Sunday, 28 April 2024
รองศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

บทบาทยังไม่จบ เจตจำนงจาก APEC 2022 ต้องไม่เลือนหาย ความท้าทายที่รัฐบาลไทยต้องดันซ้ำสู่ปีต่อๆ ไป

ย้อนไปเมื่อ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา ณ อาคารรัฐสภาสหรัฐ ใจกลางกรุงวอชิงตัน ดีซี ได้มีการจัดงานเลี้ยง US-Asia Institute 2022 Capitol Hill Reception: A Tribute to Special Supporters + Celebrating US Chairmanship of APEC 2023 เพื่อเป็นการต้อนรับวาระที่สหรัฐอเมริกาจะเป็นผู้รับไม้ต่อจากประเทศไทยในการเป็นประธานและเจ้าภาพการประชุม APEC และการประชุมที่เกี่ยวข้องตลอดปี 2023 

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าหน้าที่ของประเทศไทย รัฐบาลไทย และภาคเอกชนไทย จะสิ้นสุดลง และเราสามารถผลักความรับผิดชอบทั้งหมดไปให้สหรัฐฯ ขับเคลื่อนสิ่งที่เป็นเป้าหมายกรุงเทพฯ ได้โดยไม่ต้องทำอะไร 

หากแต่ประเทศไทยยังคงต้องแสดงความจริงใจ และดำเนินการในเรื่องสำคัญๆ ที่ไทยแจ้งต่อที่ประชุม APEC 2022 ว่าเป็นวาระสำคัญของโลกต่อไป เพราะต้องอย่าลืมว่าการประชุม APEC มีลักษณะเป็น Concerted Unilateralism นั่นหมายความว่า ผลการประชุม APEC มิได้เป็นข้อตกลงที่มีผลผูกพัน หากแต่เป็นการแสดงเจตจำนงร่วมกันของผู้นำทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ว่าเห็นพ้องต้องการที่จะขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ดังที่แถลงการณ์ร่วมกันเอาไว้ในการประชุมที่กรุงเทพ

แน่นอนว่า ในแถลงการณ์ร่วมในปี 2023 และในฉบับของปีต่อๆ ไป ก็จะมีการอ้างถึง Bangkok’s Goal 2022 เช่นเดียวกับที่ก็จะมีการอ้างถึง APEC Putrajaya Vision 2040 ที่เสนอโดยมาเลเซียในปี 2020 และ Aotearoa Plan of Action ที่เสนอโดยนิวซีแลนด์ในปี 2021 

เรื่องสำคัญประการแรกที่ไทยคงต้องเฝ้าระวัง คือ คอยสนับสนุนส่งเสริมให้ทุกเขตเศรษฐกิจยังคงต้องร่วมกันเดินหน้าอย่างจริงจัง นั่นคือ แผนการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือ FTAAP ที่ถูกวางเอาไว้ในระยะ 4 ปีต่อจากนี้ เขตการค้าเสรีของ 21 เขตเศรษฐกิจ ประชากรกว่า 3 พันล้านคน และเป็น 2 ใน 3 ของมูลค่าเศรษฐกิจของโลก จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการฟื้นฟูห่วงโซ่อุปทานของโลกที่กำลังซัดส่ายจากสงครามการค้า รวมทั้งจะเป็นตัวเร่งการฟื้นตัวจากภาวะซึมเซาในช่วงโควิด-19 ไทยคงต้องเร่งสนับสนุนผลักดันในทุกเวทีให้มีการเร่งดำเนินการตามแผนที่วางเอาไว้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าภาพในปี 2023 มีแนวโน้มที่จะไม่สนับสนุนแนวคิดการค้าเสรีอีกต่อไป

ประการที่ 2 ที่ไทยต้องเร่งผลักดันทั้งในเวทีระหว่างประเทศ และในเวทีภายในประเทศ นั่นคือ แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งประกาศไว้อย่างชัดเจนใน เป้าหมายกรุงเทพฯ ความห่วงกังวลคือ ถ้าประเทศไทยเรานำเสนอเรื่องนี้ แต่ประเทศไทยเราเองกลับมีความขัดแย้งทางการเมือง มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จนทำให้ไม่มีความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายดังกล่าวที่ประเทศไทยเองนำเสนอว่า นี่คือสิ่งที่ดี นี่คือสิ่งที่ถูกต้องในเวทีโลก นั่นก็เท่ากับ เราเองทำลายผลงานของเราด้วยตนเอง ดังนั้นความต่อเนื่องในมิติ กำลังคน งบประมาณ และการสนับสนุนด้านงบประมาณ ที่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลของแนวร่วมใดที่ขึ้นมามีอำนาจที่ต้องร่วมกันผลักดันวาระ BCG Model ต่อเนื่องในเวทีโลกจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

บทสรุป 3 การประชุมต่อเนื่องในภูมิภาคอาเซียน ‘สุดยอดผู้นำอาเซียน - G20 - APEC’

ตลอด 2 สัปดาห์ที่สายตาของคนทั่วโลกได้เฝ้าติดตาม 3 การประชุมต่อเนื่องที่เกิดขึ้น ณ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้…

- การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน และการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
- การประชุมเขตเศรษฐกิจ G-20 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย
- และ การประชุมสุดยอดความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC ณ กรุงเทพมหานคร

การประชุมทั้ง 3 ถือเป็นการประชุมระดับผู้นำครั้งใหญ่รอบสุดท้ายก่อนจบปี 2022

แม้การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน จะยังไม่ได้มีมาตรการอย่างเป็นรูปธรรมในการบริหารจัดการกับปัญหาทางการเมืองภายในของประเทศเมียนมา หากแต่ก็มีข่าวน่ายินดี ที่ผู้นำอาเซียนมีฉันทามติที่จะเริ่มต้นกระบวนการรับ ประเทศติมอร์ตะวันออก เข้าเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน ลำดับที่ 11 ถึงแม้ว่ากระบวนการจนกว่า ติมอร์ตะวันออก จะสามารถเข้ามาเป็นสมาชิกอาเซียนได้อย่างสมบูรณ์ยังคงต้องใช้เวลา แต่อย่างน้อยที่สุด กระบวนการก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และนั่นเป็นหลักประกันว่า ประชาคมอาเซียน ยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างเข้มแข็งในห้วงเวลาที่ดุลอำนาจทั้งภายในประเทศสมาชิก ในภูมิภาค และในเวทีโลกกำลังเปลี่ยนแปลง

ต่อมาการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก (East Asia Summit: EAS) ถึงแม้จะไม่สามารถแสวงหาแถลงการณ์ร่วมได้ เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างประเทศคู่กรณีหลากมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติการเมือง-ความมั่นคง ต่อกรณียูเครน และมิติเศรษฐกิจ รวมทั้งการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจในรูปแบบที่ผู้นำหลากหลายประเทศมีความห่วงกังวล ท่ามกลางสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยี แต่อย่างน้อยที่สุด เวที EAS ก็เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้นำของมหาอำนาจที่ทรงอิทธิพลทางความมั่นคง การเมือง และเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกได้เปิดใจพูดคุยกัน 

ไม่ว่าจะเป็น Sergey Lavrov รมต.ต่างประเทศของรัสเซีย ที่ได้เปิดใจวิพากษ์สหรัฐฯ ที่ดำเนินนโยบายในการสร้างภาพลบให้กับจีน และรัสเซียในมิติเศรษฐกิจ ในขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐ Joe Biden ก็ได้แสดงข้อห่วงกังวลต่อจีนในมิติที่ต้องการขยายอิทธิพลเข้าครอบงำอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น Fumio Kishida ที่ก็รับลูกนำไปขยายผลต่อ 

แต่เวทีนี้ก็ยังเปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีจีน Li Keqiang ได้อธิบายเจตจำนงของจีนในการแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกัน และเคารพซึ่งกันและกัน ทั้งหมดแม้จะเป็นความขัดแย้ง ไม่สามารถสรุปผลและออกแถลงการณ์ร่วมได้ แต่ก็วางอยู่บนหลักการที่ไม่นำไปสู่ความรุนแรง หากยังสามารถนำพาผลของการเปิดใจเหล่านี้ไปสู่บรรยากาศที่ผ่อนคลายมากยิ่งขึ้นในการประชุมอีก 2 ประชุมที่ต่อเนื่องตามมา

บรรยากาศที่ผ่อนคลายหลังผ่านศึกการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ และหลังการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 20 ทำให้ทั้ง 2 ผู้นำมหาอำนาจแห่งโลก ประธานาธิบดี Joe Biden และ ประธานาธิบดี Xi Jinping สามารถหารือกันได้ในการประชุมทวิภาคีต่อเนื่องยาวนานถึง 3 ชั่วโมง 8 นาที และหลังจากที่ได้แสดงความไม่พอใจต่อกันไปแล้วจากเวที EAS การประชุม 2 ฝ่ายก็ทำให้ทั้งโลกมั่นใจได้ว่า ถึงแม้ทั้ง 2 ฝ่ายจะยังคงเป็นคู่แข่งขัน และยังคงต่อสู้กันต่อไปในทางยุทธศาสตร์ แต่อย่างน้อยที่สุดทั้ง 2 มหาอำนาจก็ได้ขีดเส้นแดงในประเด็นที่แต่ละฝ่ายไม่สามารถยินยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งล่วงละเมิดได้ และทั้ง 2 ฝ่ายก็ยอมรับ รวมทั้งยังจะเปิดช่องทางในการสื่อสารระหว่างกันให้มากกว่านี้ 

การประชุม G-20 แม้จะมีประเด็นหลักในการเดินหน้าสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสาธารณสุขหลังการระบาดของโควิด-19 การเตรียมความพร้อมสมาชิกสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และการเดินหน้าสู่การใช้พลังงานทางเลือก สำหรับ 1 เขตเศรษฐกิจ นั่นคือ สหภาพยุโรป และ 19 ประเทศสมาชิก แต่ด้วยสถานการณ์ความรุนแรงระหว่างรัสเซีย และพันธมิตร NATO ซึ่งปะทุในสนามรบยูเครน ทำให้ประเด็นการเมืองความมั่นคง ถูกดึงขึ้นมาเป็นประเด็นหลักของการประชุม (ยิ่งเมื่อมีสถานการณ์ขีปนาวุธจากระบบป้องกันภัยทางอากาศ ตกลงในพื้นที่ของประเทศโปแลนด์ก็ยิ่งสร้างความตึงเครียดให้กับการประชุมมากยิ่งขึ้น) 

แน่นอนว่า เมื่อผู้นำระดับโลกมารวมตัวกันมากขนาดนี้ คงปฏิเสธความรับผิดชอบในการที่จะไม่พูดถึงประเด็นความมั่นคงและประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองจนทำให้ผู้คนในยูเครนบาดเจ็บล้มตายไม่ได้ นั่นจึงนำไปสู่การประชุมทางไกลที่อนุญาตให้ประธานาธิบดี Volodymyr Zelenskyy เข้ามานำเสนอแผนการสร้างสันติภาพในยูเครน ซึ่งแม้จะทำให้ฝ่ายรัสเซียไม่พอใจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะเดินทางกลับก่อนที่จะสิ้นสุดการประชุม G-20 แต่ผู้นำ G-20 ก็ยังคงสามารถออกปฏิญญาบาหลี ที่ประณามการรุกรานอำนาจอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนได้ แม้จะไม่มีคำว่า War และ Russia ในเอกสารก็ตาม

ความสำเร็จในการเจรจาพูดคุยเรื่องการเมือง ความมั่นคงจากเวที G-20 ทำให้ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจที่มาประชุมกันต่อใน กรุงเทพมหานคร ในการประชุม APEC มีความตั้งใจที่จะเน้นการหารือมาที่ประเด็นเศรษฐกิจ ความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาปากท้อง ของประชากรกว่า 2 พันล้านคน จากเขตเศรษฐกิจที่ครอบคลุมกว่า 2 ใน 3 ของมูลค่าเศรษฐกิจของโลกได้อย่างไม่ต้องห่วงกังวล และนั่นทำให้ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2022 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการประชุม เขตเศรษฐกิจทั้ง 21 เขต จึงสามารถมีแถลงการณ์ร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์ทั้งใน 3 มิติ นั่นคือ...

เปิดตัว 5 ผู้นำใหม่ใน APEC 2022 ครั้งแรกบนเวทีที่ทั่วโลกเฝ้าจับตา

Highlight สำคัญของการประชุม APEC ในปี 2022 ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่การประชุมสุดยอดผู้นำของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการประชุมตลอดทั้งปีของหลากหลายคณะทำงานเพื่อสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อันจะส่งผลดีต่อประชากรมากกว่า 2 พันล้านคน ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี รวมทั้งการประชุมของภาคเอกชนที่จะเสนอแนะข้อเสนอต่อผู้นำในรูปแบบของ Track 2 และการสร้างความร่วมมือเพื่อเปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนด้วยกันเองระหว่างภาคเอกชน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจไม่แพ้กันด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกมิติที่ถือเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายจับตามองการประชุม APEC ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วง APEC Week เดือนพฤศจิกายน 2022 ในประเทศไทย นั่นก็คือ ‘การเปิดตัวผู้นำใหม่ของโลกหลายๆ คน ที่จะเดินทางมาประชุมสุดยอดผู้นำ APEC เป็นครั้งแรก’ 

โดยท่าทีของผู้นำใหม่เหล่านี้ในเวทีการประชุมหลัก การประชุมย่อย และการประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงภาคเอกชน จะเป็นอีกมิติที่ทั่วโลกจับตา โดยผู้นำใหม่เหล่านี้ได้แก่…

1. Anthony Albanese นายกรัฐมนตรีของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งพึ่งจะเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา เขาเป็นนักการเมืองสังกัดพรรคแรงงาน และเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในสมัยของ อดีตนายกรัฐมนตรี Kevin Rudd ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ออสเตรเลียนำพาประเทศออกจากความร่วมมือ Quadrilateral Security Dialogue (QSD) หรือ The Quad ซึ่งมีสหรัฐเป็นแกนนำ และเขายังต้องเข้ามาสะสางปัญหาความไม่พอใจของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย ที่ไม่พอใจอย่างยิ่งเมื่อ อดีตนายกรัฐมนตรีของออสเตรเลีย Scott Morrison นำพาประเทศไปสู่การติดอาวุธนิวเคลียร์ภายใต้ความร่วมมือ AUKUS นโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะในมิติเศรษฐกิจ ที่เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสัมพันธ์กับความมั่นคง จึงเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายจับตา


2. Gabriel Boric ประธานาธิบดีของประเทศชิลี ที่เข้ารับตำแหน่งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเป็นประธานาธิบดีจากกลุ่มแนวคิดซ้ายจัดรายแรกและรายใหม่ของประเทศ ภายหลังจากที่ประเทศชิลีมีอดีตประธานาธิบดี 2 ท่าน คือ Michelle Bachelet (ปนวคิดกลาง-ซ้าย) และ Sebastián Piñera (แนวคิดอนุรักษ์นิยม) ที่หมุนเวียนผลัดกันขึ้นมาผูกขาดตำแหน่งประธานาธิบดีมาตั้งแต่ปี 2006-2022 จนนำไปสู่การประท้วงทางการเมืองที่ใหญ่โตรุนแรงต่อเนื่องตลอดปี 2019-2022 เพื่อขับไล่ ปธน. Sebastián Piñera โดยคาดการณ์ว่าในการประท้วงต่อเนื่องนี้ มีผู้ออกมาร่วมชุมนุมมากกว่า 3.7 ล้านคน มีผู้เสียชีวิต 36 ราย บาดเจ็บเรือนหมื่น และถูกคุมขังกว่า 28,000 คน ชิลี คือตลาดที่มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเป็นประเทศสมาชิกกลุ่ม OECD ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี แบบปรับค่าเสมอภาคของค่าเงิน (Per Capita GDP (PPP)) ที่สูงที่สุดในภูมิภาคอเมริกาใต้ เป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูง 

3. John Lee หัวหน้าคณะผู้บริหารเขตบริหารพิเศษฮ่องกง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เขาขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนที่ Carrie Lam เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2022 แน่นอนว่า เขาคือผู้นำสูงสุดของฮ่องกงที่ขึ้นดำรงตำแหน่งหลังเหตุการณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองที่รุนแรงต่อเนื่อง และเป็นผู้นำคนแรกภายหลังจากที่ฮ่องกงมีการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง รวมทั้งในการเลือกตั้งที่ชนะเลิศและได้รับการดำรงตำแหน่งจากคณะผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ยังมีเครื่องหมายคำถามมากมาย เพราะเขาคือตัวเลือกเพียงตัวเลือกเดียว เนื่องจากผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมดต้องผ่านการตรวจสอบประวัติและได้รับการรับรองจากรัฐบาลกลางที่กรุงปักกิ่งว่าเป็นผู้รักชาติ ดังนั้นชะตากรรมของพื้นที่ที่เคยเป็นศูนย์กลางทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกคือสิ่งที่ทุกคนจับตาดูจากการดำเนินนโยบายของเขา

4. Yoon Suk-yeol ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ซึ่งพึ่งจะเข้าดำรงตำแหน่งในวันที่ 10 พฤษภาคม 2022 ท่ามกลางเสียงครหาที่ว่า การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2022 คือการเลือกตั้งเพื่อเลือกตัวแทนที่ย่ำแย่น้อยที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากตัวแทนดั้งเดิมที่เป็นที่คาดหมายและวางตัวของแต่ละพรรคการเมืองใหญ่ของเกาหลีในเวลานั้นต่างก็เผชิญหน้ากับวิบากต่างๆ จนไม่สามารถลงสมัครเข้ารับการเลือกตั้งด้วยกันทั้งสิ้น และผลการเลือกตั้งที่ออกมาก็ยังทำให้มีเครื่องหมายคำถามเช่นกัน เนื่องจาก Yoon Suk-yeol เอาชนะ Lee Jae-myung ด้วยสัดส่วนคะแนนเพียง 0.73% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ออกมาใช้สิทธิกัน 77.1% รวมทั้งคำถามอีกมากมายที่คนเกาหลีถามถึงในมิติภาวะผู้นำ ทั้งที่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ความไม่สงบในคาบสมุทรเกาหลี และความขัดแย้งระหว่างจีน และสหรัฐ เป็นประเด็นสำคัญที่คนเกาหลีห่วงกังวล

เป้าหมายกรุงเทพฯ กลไกสำคัญ ยกระดับคุณภาพชีวิต 2 พันล้านคน ใน 21 เขตเศรษฐกิจ

จากการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ที่ล้มเหลวในปี 2018 และ 2019 สู่การประชุมทางไกล ที่ผู้นำไม่มีโอกาสได้พบหน้าหารือ โอภาปราศรัย ทั้งระหว่างผู้นำและระหว่างผู้นำกับประชาคมนักธุรกิจของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ สู่การประชุมที่มีแรงกดดันสูงในปี 2022

ที่เกริ่นเช่นนี้เพราะ...ไม่ว่าใครจะได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ในปี 2022 ก็ต้องประสบกับแรงกดดันของการเป็นเจ้าภาพของการประชุมครั้งแรกที่ผู้นำจะได้มาเจอหน้ากันอีกครั้งทั้งนั้น ท่ามกลางภาวะวิกฤตทั้งจาก สงครามระหว่างรัสเซียกับพันธมิตร NATO ที่ปะทุขึ้นเป็นสงครามในยูเครน, ความพยายามของชาติมหาอำนาจในการยกระดับจากสงครามเศรษฐกิจ

อีกทั้งยังมี สงครามการค้าแบบเดิม ที่ออกมาตรการกีดกันทางการค้า ไปสู่การ Weaponized Economic Interdependency หรือการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า อาทิ บริการการเงิน, การธนาคาร, การโอนย้ายเงินระหว่างประเทศ, ระบบโลจิสติกส์, ระบบประกันภัย ฯลฯ มาเป็นเครื่องมือประหัตประหารซึ่งกันและกันทางเศรษฐกิจจนโลกเกิดทั้งวิกฤตอาหาร, วิกฤตพลังงาน และการดำเนินนโยบายที่ไร้ความรับผิดชอบของระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มุ่งมั่นในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่สร้างขึ้นด้วยตนเองในอดีต จนนำไปสู่การดูดสภาพคล่อง ขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ ที่ทำให้เงินทุนจำนวนมากไหลออกจากหลายเขตเศรษฐกิจ และนำไปสู่ความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยน 

ยิ่งไปกว่านั่น การที่บางประเทศเลือกที่จะนำเอาประเด็นทางด้านการเมือง (หรือแม้แต่เหตุผลส่วนตัวด้านครอบครัว) เข้ามาเป็นข้ออ้างในการที่จะหลีกเลี่ยงการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของประชากรโลกกว่า 2 พันล้านคน จาก 21 เขตเศรษฐกิจเหล่านี้ ก็อาจจะสร้างความหนักใจให้กับเจ้าภาพการประชุม APEC ได้ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เราสามารถเชื่อมั่นใจ ‘ประเทศไทย’ ในฐานะประเทศ และเจ้าภาพการประชุมได้ครับ เพราะไทยเรามีความแข็งแกร่งในด้านการมีน้ำใจที่ดีงาม เปิดกว้าง และรักการให้บริการ Thailand Hospitality ซึ่งเหล่านี้ เป็นหนึ่งในหลักประกันได้ในระดับหนึ่งว่า ในฐานะประธานและเจ้าภาพ เราจะให้การต้อนรับผู้แทนในทุกระดับ และคณะทำงานทุกคนที่เข้ามาประชุมในประเทศไทย ตลอดทั้งปี 2022 ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดีที่สุด 

หากแต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันนั่นคือ ‘สารัตถะ’ และการประสานงานของเจ้าภาพอย่างประเทศไทยต้องการผลักดัน ยังคงต้องเกิดขึ้นได้ ท่ามกลางความแตกแยก แม้จะไม่สามารถออกแถลงการณ์ร่วมของผู้นำจากทุกเขตเศรษฐกิจร่วมกันได้ก็ตาม แต่ประเทศไทยต้องประสานงาน ดำเนินการทั้งในทางปกติ และในทางลับ เพื่อให้ในที่สุด แม้จะมีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นก็ตาม ประเทศไทยในฐานะประธานจะยังสามารถออกแถลงการณ์ของประธานในที่ประชุม ซึ่งได้รับการเห็นชอบจากสมาชิกทั้ง 21 เขตได้ และ สารัตถะสำคัญ นั้นคือ ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ’ Bangkok

เป้าหมายกรุงเทพฯ คือ การต่อยอดจากโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG ของประเทศไทยที่วางอยู่บนแนวคิดสำคัญคือ ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ และความต้องการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs 2030) ที่ประเทศไทยต้องการเชิญชวนให้ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมกันสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีความรับผิดชอบ (Responsible Economies) 

2 เหตุผลใหญ่ ทำไมการประชุม APEC ปี 2022 ที่ไทย คนทั่วทั้งโลกต้อง ‘ทบทวน-พิจารณา’

ปี 2022 ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นประธานและเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งปี มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบเศรษฐกิจโลก 

ทำไม? เราถึงสามารถกล่าวเช่นนี้ได้ ผู้เขียนคิดว่าเป็นเพราะอย่างน้อย 2 เหตุผลด้วยกัน...

>> เหตุผลส่วนแรก
APEC คือ ความร่วมมือของ 21 เขตเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ประชากรของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจรวมกันครอบคลุมประชากรมากกว่า 3 พันล้านคน หรือคิดเป็น 38% ของประชากรของทั้งโลก และนี่คือกลุ่มประชากรที่มีความน่าสนใจมากที่สุด เพราะตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา กำลังซื้อของประชากรกลุ่มนี้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง 

พิจารณาได้จากสัดส่วนของประชากรของ 21 เขตเศรษฐกิจที่ดำเนินชีวิตอยู่ใต้เส้นขีดความยากจนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากที่มีสัดส่วนของคนจนสูงถึง 41.7% ของประชากรในปี 1990 โดยปัจจุบันตัวเลขนี้ลดต่ำลงเหลือเพียง 1.8% ของประชากร APEC เท่านั้นที่ยังอยู่ในสถานะยากจน 

นอกจากนี้ APEC ยังเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันราว 2 ใน 3 ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมของทั้งโลก หรือคิดเป็นตัวเงินกว่า 50 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการค้าระหว่าง 21 เขตเศรษฐกิจ ยังเทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของทั้งโลก

ยิ่งไปกว่านั้นตลอดช่วงเวลากว่า 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จากปี 1990 ถึง 2020 มูลค่าการลงทุนระหว่างประเทศภายในกลุ่มสมาชิก APEC เพิ่มขึ้นจาก 45.2% เป็น 67.9% นั่นแปลว่า 21 เขตเศรษฐกิจนี้คือผู้ลงทุนรายสำคัญที่ต่างก็ลงทุนภายกลุ่ม APEC ด้วยกันเอง ซึ่งการลงทุนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องนี้ เป็นผลมาจากการที่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่าง APEC ที่เน้นสร้างความร่วมมือในการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitations: TFs) อาทิ การลด ละ เลิก มาตรการทางการค้าที่มิใช่มาตรการทางภาษี, การสร้างความร่วมมือเพื่อให้พิธีการทางศุลกากรมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น, ลดความซับซ้อนลง หรือ การอำนวยความสะดวกให้นักธุรกิจ APEC ได้ทำให้ดัชนีความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business: EoDB Index) เฉลี่ยของทั้งกลุ่มปรับตัวสูงขึ้นกว่า 11.3% 

เอกชนสำคัญ!! รู้จัก ABAC ‘สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค’ กลไกสำคัญขับเคลื่อน APEC

หลังจากการกำหนดเป้าหมาย ‘โบกอร์’ (Bogor Goals) ในปี 1994 ที่สมาชิก APEC ต้องการเดินหน้าไปสู่การเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในระหว่างสมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ต่อมาในปี 1995 กับการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ณ ประเทศญี่ปุ่น ผู้นำ APEC ก็ได้มีมติร่วมกันที่จะจัดตั้ง ‘สภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปก’ (APEC Business Advisory Council) หรือที่นิยมเรียกกันในชื่อย่อว่า ABAC (อ่านว่า เอ-แบค) เพื่อให้ภาคธุรกิจ, ภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน เข้ามามีส่วนร่วมในการรวบรวมข้อเสนอแนะ ศึกษา ตลอดจนสร้างกลไกในการร่วมกันกำหนดนโยบายการขับเคลื่อนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง 21 เขตเศรษฐกิจ

กลไกการทำงานของ ABAC ประกอบขึ้นจากตัวแทนของแต่ละเขตเศรษฐกิจจำนวน 3 ท่าน ที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากผู้นำของแต่ละเขตเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้มีคณะที่ปรึกษาธุรกิจเอเปคจำนวนทั้งสิ้น 63 ท่าน

โดยในกรณีของประเทศไทย ตัวแทน 3 ท่านจะมาจาก หอการค้าไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย 

ทั้งนี้ 63 ท่านจาก 21 เขตเศรษฐกิจ จะประชุมร่วมกันอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง พร้อมทั้งมีการจัดงาน APEC CEO Summit จำนวน 1 ครั้ง เพื่อร่วมหารือและแลกเปลี่ยนมุมมองด้านธุรกิจและความท้าทายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เพื่อพัฒนาบทสรุปคำแนะนำประจำปีที่จะยื่นเสนอต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ในการประชุมสุดยอดผู้นำในแต่ละปี โดยในปี 2022 ‘คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล’ รับหน้าที่ประธานสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก เพื่อนำข้อเสนอไปหารือกับคณะผู้นำของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ 

จากการเตรียมงานอย่างทุ่มเทของภาคเอกชนไทยอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนปี 2022 ... ABAC ก็ได้มีการกำหนด theme ของการประชุมภาคเอกชนในปีนี้ไว้ว่า Embrace. Engage. Enable

- Embrace หมายถึงการกลับมาใกล้ชิดพร้อมหน้ากันอีกครั้งในการร่วมประชุม หลังจากที่ต้องไปประชุมทางไกลมาตลอดช่วงการระบาดของโควิด-19
- Engage หมายถึง การลงมือทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง...
- เพื่อให้ Enable นั่นคือ สามารถผลักดันกลไก APEC ให้เดินหน้าไปได้อย่างแท้จริง

ตลอดปี 2022 ที่ผ่านมา ภาคเอกชนทำงานอย่างหนักและต่อเนื่องร่วมกันกับทุกเขตเศรษฐกิจสมาชิก โดยแบ่งมิติการทำงานร่วมกันออกเป็น 5 คณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์ 5 ด้าน เพื่อนำไปสู่ ‘การเร่งฟื้นตัวทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และการกระตุ้นให้เกิดการพลิกฟื้นสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ครอบคลุม และมีความยืดหยุ่นในระยะยาว’ โดยทั้ง 5 คณะทำงาน และ 5 กลยุทธ์เพื่อบรรลุเป้าหมาย ได้แก่...

1.) Regional Economic Integration: เส้นทางสู่เขตการค้าเสรีของเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) และการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของการค้าภาคบริการ สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคเห็นว่า FTAAP ควรตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจระดับโลกที่ค่อยๆ พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป จึงเห็นควรในการพัฒนาแผนงานนี้ต่อไปเพื่อให้วาระนี้เกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม  และในขณะเดียวกัน นวัตกรรมจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตในภูมิภาคโดยเฉพาะในภาคบริการผ่านการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมนวัตกรรม โดยเฉพาะเกี่ยวกับบริการดิจิทัลที่สนับสนุนอีคอมเมิร์ซ, บริการทางโลจิสติกส์, บริการด้านสุขภาพ และบริการด้านสิ่งแวดล้อม

2.) Digital – การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล เพื่อความปลอดภัยทางไซเบอร์และดิจิทัล แนวทางการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่สอดคล้องและบูรณาการ นับเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น และนับเป็นความสามารถในการปกป้องความก้าวหน้าและนวัตกรรมต่างๆ คณะทำงานจึงขอเรียกร้องให้เอเปคสร้างแพลตฟอร์มในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับภูมิภาค ที่จะประสานการดำเนินการและการลงทุนด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ร่วมกัน  

สิ่งที่ไทยได้ทันที กางผลลัพธ์ APEC 2022 ไม่ต้องรอถึงเดือน 11 เพราะผลสำเร็จต่อศก.ไทย เกิดขึ้นแล้วตลอดทั้งปี

สิ่งที่อาจจะเป็นเรื่องเข้าใจผิดสำหรับหลายๆ คนเกี่ยวกับ APEC นั่นคือ ผู้คนต่างเข้าใจว่า การประชุม APEC หรือ การประชุมความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 นั้น คือผลลัพธ์ที่จะทำให้ไทยได้ประโยชน์

แต่ในความเป็นจริงแล้ว การประชุม APEC และการประชุมที่เกี่ยวข้องของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ที่ครอบคลุมมูลค่าทางเศรษฐกิจในราว 2 ใน 3 ของมูลค่าเศรษฐกิจโลก แท้จริงแล้วได้เกิดขึ้นมาตลอดทั้งปี และในประเทศไทยเอง ก็ได้มีการประชุมไปแล้วมากกว่า 14 คลัสเตอร์ 

ที่ต้องใช้คำว่า ‘คลัสเตอร์’ เนื่องจากใน 1 ช่วงเวลาที่มีการจัดการประชุมอาจจะมีการประชุมเกิดขึ้นมากกว่า 1 ครั้ง ครอบคลุมเนื้อหาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในหลากหลายมิติ และการประชุมเองก็มีการจัดทั้งในรูปแบบการประชุมทางไกล ในช่วงเวลาที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 และมีการประชุมแบบ On-site ที่เกิดขึ้นทั้งใน กรุงเทพมหานคร, เชียงใหม่, ภูเก็ต และขอนแก่น 

โดยการประชุมคลัสเตอร์สำคัญๆ เฉพาะที่เป็นของภาครัฐ ในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส หรือ ในระดับตั้งแต่รองอธิบดี, อธิบดี, ปลัดกระทรวง ขึ้นไปจนถึงระดับรัฐมนตรี และช่วงเวลาที่เกิดขึ้น รวมทั้งสถานที่การจัดงานสามารถสรุปได้ดังนี้…

>> คลัสเตอร์ที่ 1 ตลอดปี 2020-2021 ในช่วงเวลาที่เชื้อโควิด-19 กำลังระบาด การประชุมทางไกล และการประชุมแบบพบหน้า (เท่าที่มีโอกาส) ของหน่วยงานสำคัญๆ อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชนในนาม สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ APEC หรือ APEC Business Advisory Council (ABAC) ร่วมกับ ภาคประชาชน เครือข่ายนักวิชาการ สื่อสารมวลชน และภาคส่วนต่างๆ ได้มีการจัดขึ้นตลอดทั้ง 2 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมและกำหนด Theme ของการประชุมที่ประเทศไทยจะได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพในปี 2022

>> คลัสเตอร์ที่ 2 ตลอดเดือนกุมภาพันธ์ การประชุม First Senior Officials’ Meeting (SOM1) and Related Meeting ซึ่งเป็นการประชุมหลายครั้ง เพื่อเตรียมความพร้อม กำหนดวาระ และสารัตถะของการประชุม เมื่อประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพต่อจากประเทศนิวซีแลนด์ ก็ได้มีการประชุมในรูปแบบการประชุมทางไกล จำนวนหลายครั้ง

>> คลัสเตอร์ที่ 3 เมื่อ 16-17 มี.ค. การประชุมของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารกลางของเขตเศรษฐกิจ APEC หรือ Finance and Central Bank Deputies’ Meeting (FCBDM) ก็เกิดขึ้นในรูปแบบการประชุมทางไกล เพื่อลงลึกในรายละเอียดของความร่วมมือในการดำเนินนโยบายการเงินและนโยบายการคลังร่วมกันของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ

>> คลัสเตอร์ที่ 4 เมื่อ 9-19 พ.ค. เริ่มต้นการประชุมแบบพร้อมหน้าครั้งแรก หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เริ่มคลี่คลาย ตลอดทั้ง 10 วันที่ได้มีการกำหนดตารางเวลาเอาไว้ ก็มีการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ Second Senior Officials’ Meeting (SOM2) and Related Meeting เพื่อเจรจาในการเดินหน้าสารัตถะสำคัญที่จะนำเสนอและรับการพิจารณาโดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจ การค้า และผู้นำ APEC ก็เกิดขึ้น ณ กรุงเทพมหานคร 

>> คลัสเตอร์ที่ 5 เมื่อ 21-22 พ.ค. กระทรวงพาณิชย์รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการต้อนรับ และประชุมคณะทำงาน จนถึงการประชุมสำคัญที่สุดอีกประชุมหนึ่งของ APEC นั่นคือ การประชุมรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านการค้า หรือ Ministers Responsible for Trade (MRT) Meeting ของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ

วาระที่โลกจับตา เดินหน้าสู่เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก ความคืบหน้าที่ต้องจับตาใน APEC 2022

ภายหลังจากที่ APEC เริ่มยกระดับการประชุมสู่กลไกการตัดสินใจร่วมกันของที่ประชุมสุดยอดผู้นำ หรือ APEC Summit ที่เริ่มต้นเป็นครั้งแรกในปี 1993 เมื่อสหรัฐอเมริกาเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำครั้งแรก ณ Blake Island ในรัฐวอชิงตัน การผลักดันความร่วมมือทางเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจสมาชิกก็ดูจะมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

ตามประเพณีของ APEC เขตเศรษฐกิจที่ได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่ประธานในแต่ละปี จะเกิดขึ้นจากฉันทามติของที่ประชุม APEC โดยจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันระหว่างเขตเศรษฐกิจในทวีป สลับกับเขตเศรษฐกิจในภาคพื้นแปซิฟิก 

ในปี 1994 ประเทศอินโดนีเซียซึ่งอยู่ในฟากฝั่งทวีปเอเชียจึงได้รับเกียรติให้เป็นประธานการประชุมต่อจากสหรัฐอเมริกัน ซึ่งถือเป็นสมาชิกทางภาคพื้นแปซิฟิก โดยรัฐบาลอินโดนีเซียเลือกที่จะจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ขึ้นที่เมือง Bogor ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ลงไปประมาณ 60 กิโลเมตรจากกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศ

ในการประชุมครั้งนั้น สาระสำคัญที่สุดที่ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการประชุมในกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น นั่นคือ ผู้นำ APEC ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายระยะยาวในการสร้าง ‘เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก’ หรือที่ประชุมใช้คำว่า Free and Open Trade and Investment in the Asia-Pacific และได้กำหนดเป็น ‘เป้าหมาย’ หรือ ‘Bogor Goals’ ที่ตั้งเอาไว้ว่า “สำหรับเขตเศรษฐกิจที่มีรายได้ระดับสูงและมีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบพัฒนาแล้ว จะเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนกับสมาชิก APEC ภายในปี 2010 และให้แต้มต่อกับเขตเศรษฐกิจที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ และมีระดับการพัฒนาการทางเศรษฐกิจในระดับกำลังพัฒนาให้มีการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนในปี 2020”

หลังจากนั้น ก็ได้มีการตั้งคณะที่ปรึกษาภาคเอกชนขึ้นมาเป็นกลไกสำคัญในการให้ข้อเสนอแนะในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีและความร่วมมือในมิติอื่นๆ กับการประชุมของภาครัฐและผู้กำหนดนโยบาย โดยสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปก (APEC Business Advisory Council) หรือ ABAC ได้ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1995 และได้ทำหน้าที่ประชุมควบคู่กันไปกับการประชุมของภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะวิกฤตการณ์ Asian Financial Crisis หรือที่พวกเราชาวไทยนิยมเรียกว่า ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ต่อเนื่องกระแสที่ตกต่ำลงของการประชุมเพื่อเปิดเสรีการค้าในระดับพหุภาคีขององค์การการค้าโลก ที่ล้มเหลวในการเปิดการเจรจารอบ Millennium Round ในปี 1999 และความล่าช้าของการเจรจาในรอบ Doha Development Round ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2001 นั้น ได้ทำให้การเจรจาเพื่อเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในกรอบใหญ่ๆ ดูเหมือนจะหยุดชะงักลง และหลายๆ ประเทศทั่วโลกก็มาให้ความสำคัญกับการเจรจาเพื่อเปิดเสรีการค้าในระดับทวิภาคี และในระดับภูมิภาค นั่นจึงทำให้การเจรจาการค้าในกรอบ APEC ดูจะซบเซา

อย่างไรก็ตามในปี 2007 แนวคิดที่จะปัดฝุ่นการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนในกรอบ APEC ก็ได้ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงอีกครั้ง โดยการผลักดันอย่างแข็งแกร่งจากภาคเอกชน ABAC นั่นจึงเป็นการฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งของความร่วมมือที่ต่อจากนี้ไปจะถูกเรียกว่า เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific) หรือ FTAAP (อ่านว่า เอฟ-แท็บ) 

ด้านสำนักเจรจาการค้าพหุภาคี กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้มีการทำสรุปประเด็นการก่อกำเนิดของ FTAAP ไว้อย่างน่าสนใจในปี 2009 เอาไว้ว่า ผลการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่น่าสนใจคืองานศึกษาของเกาหลีใต้ที่ได้รวบรวมมาจากงานวิจัยของนักวิชาการต่างๆ โดยรายงานการศึกษาได้ยกคำถามรวมทั้งความเห็นต่อคำถามเหล่านั้นไว้ให้สมาชิกเอเปก หารือกันต่อ คำถามหลัก ๆ อาทิ... 

1.) ทำไมต้องมี FTAAP
2.) FTAAP มีประโยชน์หรือไม่
3.) การจัดทำ FTAAP เป็นไปได้หรือไม่
4.) การจัดตั้ง FTAAP จะใช้วิธีใด
5.) เอเปกควรศึกษาประเด็นใดเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการจัดตั้ง FTAAP เป็นต้น

>> ‘ทำไมต้องมี FTAAP?’ 
นักวิชาการต่างเห็นว่า เหตุผลสำคัญที่ FTAAP จะเป็นหนึ่งในหลายทางเลือกในเชิงนโยบายสำหรับสมาชิกเอเปกและโลก คือความล่าช้าในการดำเนินงานเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายโบกอร์ (Bogor Goals) ปัญหา Spaghetti bowl จากความซับซ้อนของการจัดทำ FTA / RTA ของสมาชิกเอเปก รวมทั้งความล้มเหลวในการเปิดเสรีรายสาขาโดยสมัครใจของเอเปกในช่วงที่ผ่านมา

>> ‘FTAAP มีประโยชน์หรือไม่?’ 
ผลจากงานวิจัยได้แสดงผลกระทบด้านความกินดีอยู่ดีในเชิงปริมาณว่า การจัดทำ FTAAP จะเป็นประโยชน์ต่อสมาชิกเอเปกและเศรษฐกิจโลกโดยรวม หากเอเปกไม่เลือกปฏิบัติต่อประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก (Unilateral Open Regionalism Approach) โดยจะสร้างความแข็งแกร่งแก่การเปิดเสรีการค้าในระดับพหุภาคี อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่แต่ละสมาชิกจะได้รับนั้นจะแตกต่างกันตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

>> ‘การจัดทำ FTAAP เป็นไปได้หรือไม่?’ 
ในรายงานได้กล่าวอย่างระมัดระวัง โดยยอมรับถึงความเป็นไปได้ในการพิจารณา FTAAP ว่าเป็นหนึ่งนโยบายทางเลือกในการดำเนินงานเพื่อเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุนของเอเปก โดยคงไว้ซึ่งนโยบายการเปิดกว้างในภูมิภาค (Open Regionalism) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเอเปกยังขาดแรงผลักดันทางการเมือง (Political Will) ที่จะส่งเสริมการจัดทำ FTAAP ภายในเอเปก รวมทั้งมีข้อจำกัด/อุปสรรคเฉพาะในบางเรื่องในการจัดตั้ง Regional Trade bloc ของตน เช่น การดำเนินงานของเอเปกอยู่บนหลักของความสมัครใจ (voluntary) เป็นต้น

ในห้วงเวลานั้น สมาชิกเอเปกกำลังทำการบ้านกันอย่างขะมักเขม้นเพื่อศึกษาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ FTAAP เช่น ศึกษาผลกระทบจากการจัดทำ FTAAP ทางเศรษฐกิจต่อสมาชิกเอเปกและโลก ศึกษาวิเคราะห์กลไกในการจัดทำ FTAAP ศึกษาความเหมือน/แตกต่างของข้อบทต่าง ๆ ในความตกลงการค้าเสรีของสมาชิกเอเปก (เช่น Market Access, Rules of Origin, Customs Procedures, Technical Barriers to Trade) และศึกษาเรื่องถิ่นกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) เป็นต้น

ประชุม APEC อิทธิพลที่ส่งผลต่อประชากรโลกร่วม 40% เรื่องอะไรที่ 21 เขตเศรษฐกิจ เขาจะคุยกัน?

การประชุม APEC ที่เกิดขึ้น และมีการประชุมในระดับรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 1989 ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นการประชุม APEC Summit หรือการประชุมสุดยอดผู้นำ ที่หัวหน้ารัฐบาลของแต่ละเขตเศรษฐกิจ ทั้ง 21 เขต มาประชุมกันอย่างเป็นทางการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ตั้งแต่ปี 1993 และแน่นอนว่า เมื่อหัวหน้ารัฐบาลมาประชุมกัน นั่นหมายความว่า กระบวนการตัดสินใจร่วมกันของผู้นำ APEC ก็จะมีความคล่องตัว และมีผลผูกพันการดำเนินการของเขตเศรษฐกิจสมาชิกอย่างมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น 

ดังนั้นเอกสารแถลงการณ์ร่วมของผู้นำ APEC หรือ Joint Statement จึงเป็นสิ่งที่ทั่วโลกจับตา เพราะนี่คือ การตัดสินใจร่วมกันในการดำเนินการความร่วมมือทางเศรษฐกิจของ 21 เขตเศรษฐกิจที่ครอบคลุมมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 2 ใน 3 ของมูลค่าเศรษฐกิจของทั้งโลก ที่จะส่งผลต่อประชากรราว 40% ของทั้งโลก

โดยความกว้างของมิติทางเศรษฐกิจที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในที่ประชุม APEC มีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น จากที่แต่เดิมในการประชุมระดับรัฐมนตรีจะเน้นสารัตถะที่มีความสำคัญคือ การสร้างความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ การลงทุนระหว่างประเทศ และการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าและการดำเนินธุรกิจ (Trade Facilitations) อาทิ การเร่งรัดและสร้างความสอดคล้องในการดำเนินพิธีการทางศุลกากร การเจรจาเพื่อลด ละ เลิก การใช้มาตรการทางการค้าที่มีลักษณะกีดกัน การสร้างความสอดคล้องพ้องกันของกฎระเบียบของแต่ละเขตเศรษฐกิจสมาชิก

จนเมื่อประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นประธานการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ครั้งแรกในปี 2003 (ก่อนหน้านั้น ไทยเคยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพการประชุมระดับรัฐมนตรีมาแล้วอีก 1 ครั้งในปี 1992) ในปีนั้น ประเทศไทยได้เสนอวาระสำคัญในการนำเอามิติการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ที่เป็นจุดเสริมเพิ่มเติมจากที่ทั่วโลกได้ร่วมกันยอมรับเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ Millennium Development Goals (MDGs) ของที่ประชุมสหประชาชาติ มาต่อยอดในที่ประชุม APEC

ก่อนที่ขอบเขตของการประชุมสุดยอด APEC จะถูกขยายเพิ่มเติมขึ้นอีกครั้งในปี 2004 เมื่อประเทศชิลีเป็นประธานการประชุม และบรรจุวาระในเรื่องการบูรณาการเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค (Regional Economic Integration: REI) ความเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน (Connectivity) และการสร้างความสอดคล้องพ้องกันของการเจรจาการค้าในระดับพหุภาคีเข้ามาเป็นประเด็นเพิ่มเติมในการประชุม 

ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผู้เล่นสำคัญของ APEC ได้นำเอามิติการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ (Climate Change) เข้ามาเจรจาในการประชุมในปี 2007 

ในขณะที่รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน สร้างเวทีในการผลักดันความร่วมมือในมิติการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิตอล และนวัตกรรม ให้กลายเป็นความร่วมมือสำคัญในเวที 21 เขตเศรษฐกิจของโลก ในปี 2012 และ 2014 ตามลำดับ

จากอดีตจนถึงปัจจุบันทำให้เราสามารถกล่าวได้ว่า ในภาพรวมแล้ว การประชุมสุดยอดผู้นำ APEC มีขอบเขตสารัตถะของการประชุมครอบคลุมเกือบจะทุกมิติในทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยอาจจำแนกออกได้เป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 

ก่อกำเนิด APEC ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ‘เอเชีย-แปซิฟิก’ เชื่อม 2 ภูมิภาคของโลกให้เป็นหนึ่งเดียว

จากจุดเริ่มต้นของความสำเร็จที่เกิดขึ้นและสะสมโมเมนตัมมาอย่างต่อเนื่องตลอดทศวรรษ 1980 ของการประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศคู่เจรจา (Dialogue Partners) ซึ่งในขณะสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations) หรือ อาเซียน มีสมาชิก 6 ประเทศอันได้แก่ ประเทศไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน ร่วมกับประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ อันได้แก่ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา จึงได้มีการขยายผลจากความสำเร็จนี้ไปสู่การสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยง 2 ภูมิภาคสำคัญของโลกเข้าด้วยกันนั่นคือ ประเทศในทวีปเอเชีย และประเทศในภาคพื้นมหาสมุทรแปซิฟิก และเรียกกรอบความร่วมมือในเวทีนี้ว่า ‘ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation)’ หรือ ‘APEC’ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 1989 หรือกว่า 33 ปีมาแล้ว โดยมีการประชุมระดับรัฐมนตรี APEC ครั้งแรก ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ในระหว่างวันที่ 6-9 พฤศจิกายน 1989 

โดยบุคคลสำคัญที่เป็นตัวตั้งตัวตีผลักดันจนทำให้เกิดเวทีการประชุมนี้คือ นายกรัฐมนตรีของประเทศออสเตรเลียในขณะนั้น คือนายบ๊อบ ฮอว์ก (Bob Hawke) ที่ต้องการนำเอาออสเตรเลีย ซึ่งในขณะนั้นเป็นประเทศที่ต้องการขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจของตนเองเข้าสู่ตลาดโลก เช่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี จอร์จ บุช (George Bush) เองก็ให้การขานรับ เพราะต้องการสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับเอเชียท่ามกลางสถานการณ์สุกงอมของการแข่งขันทางอำนาจของสงครามเย็น 

และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หากไม่มีสถานการณ์พิเศษ ตารางการประชุมสำคัญที่ทั่วโลกจับตาก็คือ การประชุม APEC ที่มักจะนิยมจัดกันในทุกเดือนพฤศจิกายน ของทุกปี โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมาที่เกิดการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC ขึ้น

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อ ‘สหภาพโซเวียต’ ล่มสลายในวันที่ 26 ธันวาคม ปีค.ศ. 1991 แต่สัญญาณการเปลี่ยนแปลงก็เริ่มต้นมาแล้วตั้งแต่ก่อนหน้านั้น หลายๆ ประเทศ และเขตเศรษฐกิจต่างก็ต้องการเข้าสู่ระเบียบโลกใหม่ ที่สหรัฐอเมริกากำลังจะกลายเป็นมหาอำนาจขั้วเดียวที่กำหนดกฎเกณฑ์กติกาการค้า การลงทุน และระบบเศรษฐกิจโลก 

ดังนั้นการเข้าเป็นพันธมิตรสำคัญของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ เป็นผู้เล่นจึงกลายเป็นสิ่งปรารถนาของหลากหลายประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top